ผลกระทบ ของ อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2553

สถานการณ์อุทกภัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อประชากรหนึ่งในสิบของประเทศ (จากประมาณ 66 ล้านคน) และสร้างความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตรร้อยละ 3 ของพื้นที่การเกษตรในประเทศ[17]

เศรษฐกิจ

ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่าอุทกภัยครั้งนี้จะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการราว 8,000-10,000 ล้านบาท ภาครัฐอาจต้องใช้งบประมาณชดเชย แก้ปัญหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัย คาดว่ามูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1-2 หมื่นล้านบาท มีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ราว 0.2% ของจีดีพี แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะยังคงขยายตัวได้ 7-7.5% โดยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก[18] ในขณะที่สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ประเมินว่าปัญหาอุทกภัยและปัญหาเงินบาทแข็งค่ารวมกัน น่าจะส่งผลให้จีดีพีลดลงประมาณ 1% ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ลดเหลือ 6%[10] ต่อมา ศูนย์วิจัยกสิกรได้รายงานว่ามูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่าง 32,000 ถึง 54,000 ล้านบาท แต่ก็ได้ทำนายว่าอุทกภัยครั้งดังกล่าวจะเป็นการนำเม็ดเงินกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนฝ่ายเอกชนจะให้ความช่วยเหลือในการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่เสียหาย ผลกระทบของอุทกภัยได้ทำให้จีดีพีในไตรมาสที่สี่ลดลงระหว่าง 0.6-1.2% และอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่สี่เพิ่มขึ้น 2.9-3.1%[19]

ธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่าพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 2.4 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 1.5 แสนราย นาข้าวได้รับผลกระทบมากที่สุด คิดเป็น 1.7 ล้านไร่ ด้านปศุสัตว์และด้านประมงได้รับผลกระทบ 1 แสนราย ซึ่งเมื่อนับรวมกับความเสียหายจากอุทกภัยนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา พบว่าพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเกือบ 4 ล้านไร่ รวมเกษตรกรได้รับความเดือนร้อน 2.9 แสนราย[20]

ด้านนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ปรับการประมาณการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลง 0.2% จากที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 7.6% เหลือ 7.4% จากความเสียหายของอุทกภัยครั้งนี้ แต่นอกจากนี้ ทางสำนักงานยังได้ประเมินความเสียหายเบื้องต้นไว้ 3 แนวทาง แบ่งเป็น กรณีต่ำ จีดีพีลดลง 0.08% คิดเป็นความเสียหาย 7,739 ล้านบาท กรณีฐาน จีดีพีลดลง 0.13% คิดเป็นความเสียหาย 11,800 ล้านบาท และกรณีสูง จีดีพีลดลง 0.21% คิดเป็นความเสียหาย 20,200 ล้านบาท[21]

ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า อุทกภัยครั้งนี้จะส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลทรายในปี พ.ศ. 2554 ลดลงกว่า 10 ล้านกิโลกรัม ผลผลิตอ้อยลดลง 109,000 ตัน เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยได้รับความเสียหายกว่า 1 หมื่นไร่[22] หน่วยงานของรัฐยังได้ออกมาเตือนว่าปริมาณการผลิตข้าวเจ้าในประเทศปีนี้อาจลดลงถึง 6.5% บีบให้ข้าวมีราคาสูงขึ้น[23]

สถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ ได้ก่อให้เกิดความกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตยางธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก[24] โดยคาดว่าปริมาณการผลิตอาจลดลงถึง 4.1% ในไตรมาสที่ 4 ของปี[24] ความกลัวดังกล่าวทำให้ราคายางธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น[25] อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อุทกภัยดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามที่ได้ประมาณการไว้[26]

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่านากุ้ง 130 นาซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่ง 20,000 ไร่ใน 6 อำเภอได้รับความเสียหายจากอุทกภัย สร้างความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท เจ้าของนากังวลว่าหอยเลี้ยงอาจตายได้ทั้งหมดในคราวเดียว ซึ่งทำให้มูลค่าความเสียหายเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2-3 พันล้านบาทหลังจากไร่หอยนางรมและหอยแครงในพื้นที่ชายฝั่งในอำเภอกาญจนดิษฐ์และอำเภอไชยาถูกกระแสน้ำพัดพาไป[27]

สาธารณสุข

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รายงานจำนวนผู้ป่วยจากการประสบภัยอุทกภัย แล้วทั้งสิ้น 107,000 ราย[28]

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

คมนาคม

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเปิดเผยว่าภาวะฝนตกหนักทำให้น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมเส้นทางสายต่าง ๆ รวม 12 สาย ดังนี้ นครราชสีมา 7 สาย สระแก้ว 1 สาย ชัยภูมิ 1 สาย นครสวรรค์ 1 สาย ลพบุรี 2 สาย[29] จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ศูนย์บริหารงานอุบัติภัย กรมทางหลวงได้รายงานน้ำท่วมและสะพานชำรุด 13 จังหวัด จำนวน 70 สายทาง[30]

นักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งได้รับรายงานว่าติดอยู่ในประเทศไทยเนื่องจากบริการทางรางและทางอากาศถูกเลื่อนออกไป[31] ได้มีความพยายามหลายประการที่จะช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 100 คนถูกรายงานว่าติดอยู่บนเกาะอ่างทองเนื่องจากมีคลื่นสูง[32]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2553 http://61.19.54.151/public/Group3/datagroup3/2553/... http://61.19.54.151/public/Group3/datagroup3/2553/... http://news.asiaone.com/News/Latest+News/Asia/Stor... http://news.asiaone.com/News/Latest+News/Asia/Stor... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokpost.com/breakingnews/204778/flo... http://www.bangkokpost.com/business/economics/2045... http://www.bangkokpost.com/news/local/204247/songk... http://www.bangkokpost.com/news/local/204261/flood... http://www.bangkokpost.com/news/local/204495/rescu...